วิเคราะห์วิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน ระเบิดลูกใหญ่สะเทือนเศรษฐกิจโลก

24 สิงหาคม 2566
วิเคราะห์วิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน ระเบิดลูกใหญ่สะเทือนเศรษฐกิจโลก

ปัญหาหนี้และการขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ที่เป็นเสาหลักสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 14-30% ของจีดีพีจีนนั้น มีแนวโน้มลุกลาม และทำให้เชื่อว่าเรื่องนี้อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ไม่สามารถเติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้ 5% ในปีนี้

ปัญหา วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่กำลังส่ง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในภาพรวมนั้น ยังสะท้อนให้เห็นจากข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่า ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในจีน ลดลงประมาณ 50% จากระดับสูงสุดในปี 2020 และราคาบ้านใหม่ก็ลดลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมูลค่าบ้านที่ลดลงนั้นนับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญยิ่ง เนื่องจาก ชาวจีน สะสมความมั่งคั่งไว้กับการลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์ โดยอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 70% ของความมั่งคั่งในครัวเรือนของจีน ดังนั้น เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงก็เท่ากับว่าความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนลดลงตามไปด้วย

ย้อนรอยสัญญาณหายนะที่เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม

การประกาศล้มละลายในต่างประเทศของ บริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา อาจไม่มีผลต่อตลาดมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกได้รับรู้ถึงปัญหาของเอเวอร์แกรนด์ตั้งแต่เมื่อปี 2021 (พ.ศ.2564) ว่ายักษ์ใหญ่รายนี้ใกล้ล้มละลาย และผลกระทบจากเอเวอร์แกรนด์ก็ได้เกิดไปแล้วในช่วงเวลานั้น หรือเกือบสองปีที่ผ่านมา

แต่เรื่องที่สร้างความกังวลใจมากกว่า เหมือนกับคลื่นยักษ์ลูกใหม่ที่กำลังซัดโถมถล่มฝั่งคือ ปัญหาของ บริษัทคันทรี การ์เดน (Country Garden) ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในแง่ปริมาณยอดขาย ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง และกำลังนับถอยหลังสู่การผิดนัดชำระหนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เรื่องนี้สร้างความกังวลว่าจะนำไปสู่การลุกลามของการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง

ปัจจุบัน คันทรี่ การ์เดน มีหนี้สินรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.8 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2022) บริษัทเปิดเผยเมื่อต้นเดือนส.ค.นี้ว่า จำเป็นต้องผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่มีกำหนดชำระในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา รวมมูลค่าประมาณ 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 795 ล้านบาท ซึ่งหากไม่สามารถชำระได้ภายใน 30 วันหลังจากนั้นจะถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ (default) อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ คันทรี การ์เดน ยังได้แจ้งนักลงทุนว่า บริษัทอาจจะขาดทุนประมาณ 45,000 ล้านหยวนถึง 55,000 ล้านหยวน (ราว ๆ 218,800 ล้านบาท ถึง 267,500 ล้านบาท) ในครึ่งปีแรกของปีนี้

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ หุ้นของคันทรี การ์เดน ที่มีการซื้อขายในตลาดหุ้นฮ่องกง กำลังจะถูกถอดออกจากดัชนี Hang Seng China Enterprises Index (HSCEI) ในวันที่ 4 กันยายนที่จะถึงนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคันทรี การ์เดน ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานะการเงินมั่นคงมากที่สุดรายหนึ่งของจีน ยิ่งตอกย้ำภาวะวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ก่อตัวให้เห็นมาแล้วสองปี นับตั้งแต่กรณีการผิดนัดชำระหนี้ของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววดีขึ้น มีแต่จะย่ำแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่ลดลง ราคาก็ลดลง แน่นอนว่านั่นทำให้การลงทุนลดลง และสภาพคล่องก็ลดลงตามไปด้วย สวนทางกับการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021

ถึงแม้ว่าสถานะทางการเงินของคันทรี การ์เดนในตอนนี้ ยังคงมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่า คันทรี การ์เดน อาจไม่เหลืออะไรเลยหากต้องตัดจำหน่ายทรัพย์สินออกไปเป็นจำนวนมาก และอาจเข้าสู่ภาวะส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ หากมูลค่าสินทรัพย์ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

นักลงทุนเชื่อว่าการผิดนัดชำระหนี้ของคันทรี การ์เดน จะสร้างผลกระทบต่อนักลงทุนและสถาบันการเงินในเวลานี้ น้อยกว่ากรณีไชน่า เอเวอร์แกรนด์เมื่อสองปีที่แล้ว เนื่องจากหนี้สินรวม 1.4 ล้านล้านหยวนของคันทรี การ์เดนนั้น คิดเป็นเพียง 59% ของหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์ (ที่ขณะนี้ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้มากที่สุดในโลก) แต่สิ่งที่น่ากังวลและสร้างความหวั่นวิตกก็คือ “ผลกระทบเฉพาะหน้า" จากปัญหาของคันทรี การ์เดนที่จะเกิดกับลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมากและจะก่อให้เกิดผลกระทบลุกลาม

ทั้งนี้ เนื่องจากคันทรี การ์เดน เป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นตลาดระดับกลางและล่าง มีจำนวนโครงการมากกว่า 3,100 โครงการกระจายในทุกมณฑลของประเทศจีน แตกต่างจากเอเวอร์แกรนด์ที่ทำโครงการเจาะตลาดระดับบนและระดับกลาง มีโครงการราว 800 โครงการอยู่ตามเมืองใหญ่ของจีน

จากการลงพื้นที่สำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า บางโครงการนั้นหยุดชะงักแล้วเป็นบางส่วน และคนงานก็ไม่ได้รับค่าแรงมาตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ รอยเตอร์ได้ออกสำรวจเขตก่อสร้างสองโครงการเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่นครเทียนจินซึ่งมีประชากร 14 ล้านคน และห่างจากปักกิ่ง 135 กิโลเมตร โดยทั้งสองโครงการเป็นของบริษัทคันทรี การ์เดน ที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ที่สุดของจีนในแง่ปริมาณยอดขาย คนงานรายหนึ่งกล่าวว่า เขาได้รับเงินก้อนสำหรับเป็นค่าครองชีพซึ่งไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของครอบครัว 

การลุกลามเป็นลูกโซ่ของการผิดนัดชำระหนี้

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินและบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจหลายรายให้ความเห็นว่า การผิดนัดชำระหนี้ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายที่สุดในการดำเนินธุรกิจ และหลายบริษัทก็ใช้ทางเลือกนี้ เพื่อรักษาเงินสดและการดำเนินงานของบริษัทเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความซบเซาต่อเนื่องหลายปีของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนเอง ทำให้เชื่อว่าการลุกลามของการผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว คันทรี การ์เดน จะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่

นายจอห์น แลม กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยอสังหาริมทรัพย์ในจีนและฮ่องกงของธนาคารยูบีเอส ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มีบริษัทอสังหาฯ จำนวนมากขึ้น ที่มีแนวโน้มจะขยายเวลาชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ แทนการชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนด

แม้จะเชื่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนครั้งนี้คงไม่รุนแรงเข้าขั้น "วิกฤตเลห์แมน" ซึ่งหมายถึงความล้มเหลวของบริษัทหนึ่งได้แพร่กระจายความเสียหายไปสู่การล่มสลายทางการเงินในวงกว้างเหมือนในสหรัฐช่วงปี 2008 หลังการล่มสลายของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ เนื่องจากความเสี่ยงของสถาบันการเงินจีนจากภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่า ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนกำลังขยายผลลุกลามไปสู่ภาคการเงินแล้วบางส่วน

โดยนับตั้งแต่วิกฤตหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มถูกตีแผ่ในปี 2021 จากกรณีผิดนัดชำระหนี้ของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ มาจนถึงขณะนี้ บริษัทอสังหาฯ ของจีนที่ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้วมีจำนวนมากมายและบริษัทเหล่านี้ก็มีส่วนแบ่งการขายบ้านในจีนรวมกันมากถึง 40% ซึ่งกล่าวได้ว่า มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ในจีนเกือบครึ่งประเทศ ที่บริษัทเจ้าของโครงการประสบปัญหาทางการเงินและผิดนัดชำระหนี้ไปแล้วนั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือลูกค้าของบริษัทเหล่านี้ มีแนวโน้มจะไม่ได้รับการส่งมอบอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ทำให้ลูกค้าจำนวนมากหยุดผ่อนชำระเงินกู้ซื้อบ้าน

สถิติชี้ว่า การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจีน ณ สิ้นปี 2022 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4.4% จากที่เคยมีเพียง 1.9% เมื่อสิ้นปี 2020

เมื่อบริษัทอสังหาฯ ไปต่อไม่ได้ การลงทุนใหม่น้อยลง ผู้ซื้อบ้านหยุดผ่อนชำระ และภาคการเงินต้องเผชิญปัญหา “หนี้เสีย” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็พลอยได้รับผลกระทบกันอย่างทั่วถึง รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นที่จะจัดเก็บภาษีจากภาคอสังหาริมทรัพย์ได้น้อยลง นอกจากนี้ ยังจะมีผลกระทบที่ออกมาในรูปการจ้างงานที่น้อยลง และรายได้ของภาคครัวเรือนที่ลดลงตาม ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศลดตามลงไปด้วย

อ่านต่อได้ที่ : ฐานเศรษฐกิจ


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.